วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2562

ช้างเอราวัณ


               ช้าง เป็นสัตว์ที่ถูกยกให้เป็นสัตว์ประจำชาติของไทย เนื่องจากมีความสำคัญตั้งแต่สมัยอดีตกาล เพราะเป็นสัตว์ที่ใช้ในการสู้รบ กอบกู้เอกราช เช่น ในครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของหงสาวดี เป็นต้น และในการทำสงครามในอีกหลายครั้ง นอกจากนี้ช้างยังถือเป็นเครื่องทุ่นแรงในการเคลื่อนย้ายไม้ที่มีการทำสัมปทานในสมัยก่อน และนอกจากในประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับช้างแล้ว ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ช้างก็ถือเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และในบทความนี้เราจะกล่าวถึงช้างเอราวัณ ช้างที่ถือได้ว่าเป็นที่รู้จักทั้งในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และยังมีอิทธิพลความเชื่อแผ่ขยายมาถึงประเทศไทย

ที่มารูปภาพ https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/48900

               ช้างเอราวัณมีหลายตำนานที่มา บ้างเป็นช้างที่พระศิวะมอบให้พระอินทร์ บ้างก็ว่าเอราวัณเป็นเทวดาที่อาศัยอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อพระอินทร์ต้องการไปที่ใดเอราวัณก็จะแปลงกายเป็นช้างเผือกเป็นพาหนะให้พระอินทร์ และอีกหนึ่งตำนานคือ เป็นของวิเศษที่เกิดมาจากการกวนเกษียรสมุทร เป็นของวิเศษที่ผุดขึ้นมาเป็นชิ้นที่ 5 การกวนเกษียรสมุทรนี้เกิดขึ้นจากอุบายของพระนารายณ์ (ซึ่งบทความก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวกับนารายณ์บรรทมสินธุ์) เนื่องจากก่อนหน้านี้เหล่าเทวดาถูกฤๅษีสาปไม่ให้มีชัยชนะในการทำสงครามกับเหล่าอสูร จึงเกิดข้อตกลงในการสงบสุขชั่วคราวเพื่อมาช่วยกันกวนเกษียรสมุทรทำน้ำอมฤตเพื่อความเป็นอมตะ แต่สุดท้ายด้วยความที่เป็นอุบายของเหล่าเทวดา หรือเรียกอย่างเข้าใจง่ายๆ คือการหลอกใช้ ทำให้เหล่าอสูรไม่ได้อะไรเลย แม้แต่ของวิเศษสักชิ้น เหล่านางอัปสร หรือน้ำแห่งความอมตะ มีเพียงพระราหูเท่านั้นที่อาศัยช่วงชุลมุนที่เหล่าอสูรไปจับนางอัปสรมากินไปได้ แต่สุดท้ายก็ถูกพระจันทร์ และพระอาทิตย์ไปแจ้งต่อพระนารายณ์ พระราหูจึงถูกจักรตัดเหลือครึ่งตัว ทำให้พระราหูเกิดความแค้นต่อพระอาทิตย์ และพระจันทร์ และเกิดเป็นปรากฏการณ์อย่างสุริยุปราคา และจันทรุปราคานั่นเอง และนอกจากนี้เหล่าอสูรยังถูกพิษจากการยุดนาคที่ส่วนหัวทำให้หน้าตาของเหล่าอสูรน่าเกลียดน่ากลัว

ที่มารูปภาพ https://www.ch3thailand.com/news/scoop/14034

               ช้างเอราวัณนั้นมีลักษณะที่ถูกกล่าวไว้ในไตรภูมิพระร่วง ดังนี้ “...และว่ายังมีเทพยดาองค์ ๑ ชื่อ ไอยราวรรณเทพบุตร ผิแลเมื่อพระอินทร์เจ้าแลมีที่สเด็จไปเล่นแห่งใดๆ ก็ดี แล ธ จะใคร่ขี่ช้างไปเล่นจึงไอยราวรรณเทพบุตรก็นิมิตรตัวเป็นช้างเผือกตัว ๑ ใหญ่นักโดยสูงได้ ๑,๒๐๐,๐๐๐ วา แลมีหัวได้ ๓๓ หัวๆ น้อยๆ อยู่สองหัวอยู่สองข้าง นอกหัวทั้งหลายนั้นแลว่าหัวใหญ่ได้ ๒,๐๐๐ วา แลหัวถัดเข้าไปทั้งสองข้างแลหัวแล ๓,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๔,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๕,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้ากว้างแลหัวแล ๖,๐๐๐ วา เร่งเข้าไปเถิงในก็เริงใหญ่ตัดกันเข้าไปดังกล่าวนี้แล ส่วนหัวอันใหญ่ที่อยู่ท่ามกลางทั้งหลายชื่อ สุทัศ เป็นพระที่นั่งแห่งพระอินทร์โดยกว้างได้ ๒,๔๐๐,๐๐๐ วาแลฯ เหนือหัวตัวนั้นแลมีแท่นแก้วหนึ่งกว้างได้ ๙๖,๐๐๐ วา แลมีปราสาทกลางแท่นแก้วนั้นมีทั้งสองแก้วฝูงนั้นโดยสูงได้ ๘,๐๐๐ วา ทั้งฝูงนั้นเทียรย่อมแก้ว ๗ สิ่ง แลมีพรวนทองคำห้อยย้อยลงทุกแห่งแกว่งไปมา แลมีเสียงนั้นไพเราะนักหนาดังเสียงพาทย์พิณในเมืองฟ้า ในปราสาทนั้นเทียรย่อมดัดเพดานผ้าทิพย์แลมีแท่นนอนอยู่ในที่นั้นกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา แลมีราชอาสน์หนาหมอนใหญ่หมอนน้อย หมอนอิง องค์พระอินทร์นั้นสูงได้ ๖,๐๐๐ วา แลประดับนี้ด้วยแก้วถนิอาภรณ์ทั้งหลายแล ธ นั่งเหนือแท่นแก้วนั้น หัวช้างได้ ๓๓ หัวไส้ พระอินทร์ให้เทพยดาทั้งหลายขี่ ๒๒ หัวนั้น มีบุญเพียงประดุจพระอินทร์ไส้ฯ อันว่าหัวช้างทั้ง ๓๓ หัว แลหัวๆ มีงา ๗ อันแลงาแต่ละอันยาวได้ ๔๐๐,๐๐๐ วา แลงานนั้นมีสระได้ ๗ สระๆ แลสระนั้นมีบัวได้ ๗ กอๆ บัวแลกอนั้นมีดอก ๗ ดอกๆ แลอันนั้นมีกลีบ ๗ กลีบๆ แลอันๆ มีนางฟ้ายืนรำระบำบรรพต แล ๗ คน แลนางแลคนๆ นั้นมาสาวใช้ได้ ๗ คนโสด...”
สรุปลักษณะที่สังเกตได้โดยง่ายนอกจากร่างกายที่มีขนาดมโหฬาร สีขาวที่โดดเด่นแล้ว ก็มีลักษณะพิเศษดังต่อไปนี้ มีหัว 33 หัว
                              แต่ละหัวมีงา 7 อัน
                              แต่ละงามีสระโบกขรณี 7 สระ
                              แต่ละสระมีกอบัว 7 กอ
                              แต่ละกอบัวมีดอกบัว 7 ดอก
                              แต่ละดอกบัวมีกลีบดอก 7 กลีบ
                              แต่ละกลีบมีนางอัปสร 7 นาง
                              แต่ละนางอัปสรมีบริวาร 7 คน
นั่นก็คือ นอกจากหัวแล้ว นอกนั้นก็ 7 ของแต่ละสิ่งก่อนหน้านี้นั่นเอง

ที่มารูปภาพ https://sites.google.com/site/bthphakyxerawanmew11/xun/prawati-chang-xerawan

               หน้าที่ของช้างเอราวัณ ก็คือการเป็นพาหนะให้พระอินทร์ทั้งในการเดินทางต่าง ๆ ในการทำสงครามกับเหล่าอสูร และการดูแลโลกในทิศตะวันออก และชื่อช้างเอราวัณนั้น ในแต่ละภาษาก็จะเรียกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย เรียกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นไอราพต ไอราวัต ไอราวัณ และ เอราวัณ ภาษาสันสฤต เรียกว่าไอราวต ไอราวณ ส่วนภาษาบาลีเรียกว่า เอราวณ ซึ่งแต่ละชื่อ มีความหมายเกี่ยวกับน้ำ เมฆฝน หรือรุ้ง ด้วยความที่พระอินทร์เป็นเทพเกี่ยวกับการดูแลดิน ฟ้า อากาศ เมื่อต้องการให้เกิดฝนพระอินทร์จะให้ช้างเอราวัณให้ดูดน้ำจากโลกมนุษย์ขึ้นไปโปรยบนฟ้าเพื่อทำให้เกิดฝนตกลงไปแทนที่ความแห้งแล้ง ทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ช้างเอราวัณยังเป็นสัญลักษณ์ของการทำดี และเป็นเจ้าแห่งช้าง
               จากที่อ่านมาหลายคนอาจจะงงว่าช้างเอราวัณนั้นมี 33 หัว แต่ที่เห็นทำไมมีแค่ 3 หัว คงเพราะเพื่อความสวยงามทางศิลปะ และง่ายต่อการสร้าง ซึ่งขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจมาให้ได้รู้จักกัน ดังนี้
  1.ทับหลัง ซึ่งทับหลังของช้างเอราวัณนั้นจะเป็นในแบบที่มากับพระอินทร์ และมักอยู่ทางทิศตะวันออก เพราะพระอินทร์นั้นเป็นเทพประจำทิศ

ที่มารูปภาพ http://scaasa.org/?p=571

  2.รูปปั้น จะเห็นเป็นลักษณะที่มี 3 หัว แต่ละหัวมีงา 2 อัน

ที่มารูปภาพ https://www.traveloka.com/th-th/activities/thailand/product/the-erawan-museum-tickets-2001690933875

  3.ธงชาติ มีปรากฏทั้งเคยเป็นธงชาติลาว และธงราชอิสรยศ
ธงชาติลาว เป็นลักษณะช้างเอราวัณ 3 หัว ยืนอยู่ใต้พระมหาเศวตฉัตร

ที่มารูปภาพ https://sites.google.com/site/suckseedpotato/thng-praca-chati

ธงราชอิสรยศ สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีช้างเอราวัณอยู่ตรงกลางธง ที่หลังมีมหาพิชัยมงกุฎ สองข้างมีเครื่องสูง 7 ชั้น

ที่มารูปภาพ https://workpointnews.com/2019/05/07/สง่างาม-ธงมหาราชใหญ่10/

  4.สัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณบนก้อนเมฆ ที่มือถืออาวุธประจำกาย

ที่มารูปภาพ https://poppoojung.wordpress.com/สัญลักษณ์ประจำกรุงเทพม/


               แหล่งอ้างอิง
วิยะดา ทองมิตร. (ม.ป.ป.). ช้างเอราวัณ หรือ ช้างสามเศียร พาหนะแห่งพระอินทร์เจ้าแห่งสวรรค์.
สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2562, จาก https://www.web-pra.com/amulet/ช้างเอราวัณ(ช้างสามเศียร)
พระธีระยุทธ อานนฺทมุนี. (ม.ป.ป.). ประเทศลาว ธงประจำชาติ. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562, จาก
Lookhin. (2560). ตำนานการกวนเกษียรสมุทร. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2562, จาก
The Erawan group. (ม.ป.ป.). ตำนานเอราวัณ. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2562, จาก
Tunchanok Chienvichai. (ม.ป.ป.). สัญลักษณ์ประจำกรุงเทพมหานคร. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562,
WorkpointNews. (2562). สง่างาม “ธงมหาราชใหญ่” พระราชอิสริยยศแห่งพระมหากษัตริย์ ขึ้นเหนือ
พระบรมมหาราชวัง. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562, จาก https://workpointnews.com/2019/05/07/สง่างาม-ธงมหาราชใหญ่10









วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2562

นารายณ์บรรทมสินธุ์ ทับหลังที่(เคย)หายไป


               ในบทความที่แล้วเป็นเรื่องราวเกี่ยวนาค (คลิกอ่านได้ที่นี่) เมื่อได้ทำการค้นหาข้อมูลมาประกอบการเขียน ก็ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกขโมยไป แต่ในปัจจุบันสามารถทวงคืนกลับมาได้ ซึ่งเป็นที่มาของบทความนี้
นารายณ์บรรทมสินธุ์ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ เป็นประติมากรรมที่เล่าเรื่องราวของพระนารายณ์ขณะที่กำลังนอนอยู่บนตัวพญาอนันตราคราช โดยมีพระนางลักษมีผู้เป็นชายาคอยปรนนิบัติ และมีพระพรหมที่นั่งอยู่บนดอกบัวผุดออกจากสะดือของพระนารายณ์ เป็นการสื่อถึงการสร้างโลกใบใหม่ หลังจากที่ถูกโลกทำลายไปแล้ว ถูกกล่าวอยู่ในมหาภารตะว่า “.....โลกเมื่อถึงคราวสิ้นกัลป์ (หนึ่งกัลป์เท่ากับหนึ่งวันของพระพรหม) ทุกสรรพสิ่งถูกทำลายล้าง พื้นดินจมลงสู่ใต้มหาสมุทรพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงพระนามว่า “นารายณ์” ผู้มีพันพระเนตรและพันพระบาท บรรทมอยู่ที่ท่ามกลางเกษียรสมุทร มีพญานาคผู้มีพันเศียรรองรับองค์พระผู้เป็นเจ้า ...เมื่อพระองค์ตื่นบรรทม และมองเห็นโลกที่ว่างเปล่า พระองค์ได้ตั้งสมาธิเพื่อการสร้างสรรค์สรรพสัตว์ขึ้นใหม่ ในขณะนั้น ได้เกิดดอกบัว(หมายถึงความบริสุทธิ์) ดอกหนึ่ง ผุดขึ้นจากพระนาภี (สะดือ)จากผลของสมาธินั้น แล้วพระพรหมผู้มีสี่พักตร์ก็ได้ปรากฏขึ้นบนดอกบัวนั้น.....” การสลักเล่าเรื่องนารายณ์บรรทมสินธุ์ปรากฏให้เห็นได้ทั่วไปในโบราณสถานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในอินเดีย กัมพูชา หรือแม้แต่ในประเทศไทยเอง และหนึ่งในนั้น ก็ปรากฏบนทับหลังของปราสาทพนมรุ้ง

ที่มารูปภาพ https://www.panchdoot.com/latest-news/devshayani-ekadashi-2018-significance-fasting-and-muhurat-timings-of-padma-ekadashi/
               ปราสาทพนมรุ้งตั้งอยู่บนภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ของจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นในสมัยพระนคร หรือสร้างร่วมสมัยกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่เป็นผู้สร้างนครวัดอันยิ่งใหญ่ แต่ปราสาทพนมรุ้งนี้สร้างโดย พระเจ้านเรนทราทิตย ผู้เป็นญาติกัน ซึ่งปราสาทหลังนี้สร้างเพื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในลัทธิไศวะนิกาย ซึ่งเปรียบเขาพนมรุ้ง เป็นเขาไกรลาสสถานที่ประทับของพระศิวะ และเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางของจักรวาล

ที่มารูปภาพ https://www.museumthailand.com/th/museum/Phanomrung-Historical-Park
               และเมื่อมาถึงปราสาทพนมรุ้งแล้ว สิ่งที่พลาดไม่ได้ในการเข้ามาเยี่ยมชมคือ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ถูกประดับไว้ที่ทางเข้าปราสาทประธาน ด้านทิศตะวันออก “แกะสลักเป็นภาพพระวิษณุหรือพระนารายณ์ สี่กร บรรทมตะแคงขวา บนหลังพญาอนันตนาคราชซึ่งทอดตัวอยู่บนหลังมังกร พระหัตถ์ขวาหน้ารองรับพระเศียร พระหัตถ์ขวาหลังทรงถือจักร พระหัตถ์ซ้ายหน้าทรงถือคทา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายหลังทรงถือสังข์ (?) ที่ปลายพระบาทของพระนารายณ์ เป็นภาพพระนางลักษมีชายาของพระองค์ เหนือองค์พระนารายณ์ แกะสลักเป็นรูปดอกบัวที่โผล่ขึ้นมาจากพระนาภีองค์พระนารายณ์ ภายในดอกบัวแกะสลักเป็นรูปพระพรหม สี่พักตร์ สี่กร พระหัตถ์ทั้งสี่ไม่สามารถระบุได้ว่าทรงถืออะไร ภาพทั้งหมดจัดไว้กึ่งกลางทับหลัง ส่วนด้านซ้ายและด้านขวาทำเป็นรูปหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย เหนือขึ้นไปเป็นรูปครุฑ ข้างครุฑเป็นภาพนกหัสดีลิงค์คาบช้าง และภาพลิงอุ้มลูก ส่วนด้านใต้หน้ากาลเป็นภาพนกแก้ว 2 ตัว การออกแบบลวดลายและการแกะสลักประณีต จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นทับหลังที่งดงามที่สุดในประเทศไทย” ( วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ , 2551)

ที่มารูปภาพ https://www.pinterest.co.uk/pin/408138784974463219/

               
ซึ่งสิ่งที่ให้ทับหลังนี้เป็นที่รู้จัก เพราะในอดีตทับหลังชิ้นนี้ถูกโจรกรรมไป นานเกือบ 30 ปี จนถูกพบที่สถาบันศิลปะ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา จึงได้ทำหนังสือเพื่อขอคืนทับหลังชิ้นนี้ในพ.ศ.2516 แต่ยังไม่สำเร็จ จนเมื่อพ.ศ.2531 เกิดเหตุการณ์รณรงค์เพื่อรื้อฟื้นขอคืนทับหลังโดย
ทำหนังสือถึงเอกอักคราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ในขณะนั้น จากการเคลื่อนไหวของหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งข้าราชการส่วนที่เกี่ยวข้อง ประชาชนต่าง ๆ ทั้งพ่อค้า และนักศึกษา ในประเทศไทยกว่า 15,000 คน นอกจากนี้ยังมีการแต่งเพลงทับหลัง จากวงคาราบาวเพื่อเป็นสื่อในการรณรงค์อีกทางหนึ่งด้วย รวมถึงการเคลื่อนไหวจากนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็น คนไทยที่อยู่ในเมืองชิคาโก ชาวอเมริกันและชนชาติอื่น ๆ จนในที่สุดจึงได้ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับมาในไทย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2531 และได้นำกลับมาไว้ที่ปราสาทพนมรุ้ง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2531 หลังจากที่ได้นำไปจัดแสดงให้ประชาชนได้เยี่ยมชม

ที่มารูปภาพ http://www.wisut.net/บุรีรัมย์-บทความ/ทับหลังนารายณ์บรรทมสิน/

แต่ในอีก 10 ปีต่อมา ได้เกิดความสงสัยว่าทับหลังที่นำกลับมาได้นี้ เป็นของจริงหรือของปลอม เพราะทับหลังสามารถปลอมแปลงกันได้ง่าย นักโบราณคดีหลายคนจึงต้องการให้กรมศิลปากรพิสูจน์ แต่กรมศิลปากรยืนยันแล้วว่า ทับหลังชิ้นนี้ได้ผ่านการพิสูจน์ และเป็นของจริงแน่นอน



               กว่าทับหลังชิ้นนี้จะกลับคืนมาเป็นสมบัติของชาติได้ ก็ใช้เวลาเกือบ 30 ปี และสามารถทำสำเร็จได้ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของคนไทยทั้งประเทศ รวมถึงการสนับสนุนจากต่างชาติ ดังนั้น เราจึงควร “รักษ์ และดูแล” เพื่อการคงอยู่ของสมบัติแห่งชาติ เพราะฉะนั้น เวลาไปเที่ยวปราสาทพนมรุ้ง ก็อย่าลืมแวะไปชมทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เพราะถือเป็นทับหลังที่มีเนื่องราวน่าสนใจเป็นอย่างมาก


แหล่งอ้างอิง
มิวเซียมไทยแลนด์. (2562). อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2562, จาก
วรณัย พงศาชลากร. (2555). “วิษณุอนันตศายิน - นารายณ์บรรทมสินธุ์” จากทั่วถิ่นเมืองไทย ...อยู่ที่ไหนบ้าง ?.
               สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2562, จาก
วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ. (2551). ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ : ของจริงหรือของปลอม. สืบค้นเมื่อวันที่ 25
Tnews. (2560). ย้อนรอย ทวงคืนสมบัติชาติจากสหรัฐฯ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” กลับคืนสู่แดนไทย
หลังหายไปนานกว่า 30 ปี (รายละเอียด). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2562, จาก

วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2562

เรื่องของนาค



“คำแก้ว มันเป็นงู” (อ่านแบบสำเนียงอีสานเพื่อความอรรถรส) เป็นประโยคยอดฮิตจากละครดังเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งตัวเอกเป็นนาคที่มาอยู่ในร่างมนุษย์ และใช่ค่ะ นาคเป็นหัวข้อที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ เนื่องจากในบทความที่แล้ว ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับมกรที่คายนาคไป (คลิกอ่านได้ที่นี่) ในครั้งนี้จึงอยากจะพาทุกคนมารู้จักกับนาคในรูปแบบของศิลปะที่น่าสนใจ

                
พญานาคนั้น เป็นความเชื่อของผู้ที่นับถือในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ ความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เช่น จากรูปถ่ายนี้คือสะพานทางประตูทางทิศใต้ทางเข้านครธม เป็นการจำลองการกวนเกษียรสมุทร โดยที่อสูร และเทวดากำลังช่วยกันยุดนาคที่ชื่อ วาสุกรี เพื่อให้ได้น้ำอมฤต และความเชื่อในศาสนาพุทธ เช่น ในครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในสัปดาห์ที่6 เกิดฝนตกหนักจึงทำให้พญานาคมุจลินท์ได้ออกมาพังพาน เพื่อป้องกันฝนให้พระพุทธเจ้า และในประเทศไทยเองก็มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่งที่เชื่อว่าเป็นที่พำนักของนาค เช่น ที่คำชะโนด ที่เชื่อว่ามีพญาศรีสุทโธนาคราชเป็นผู้ปกครอง และมีความเชื่อว่าหากใครลูบฆ้องให้เสียงกังวานได้จะประสบกับความโชคดี นอกจากนี้ยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถตักเก็บไปบูชาที่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลได้ ทั้งยังยังมีสถานที่อื่นๆอีกหลายแห้ง และมีปรากฏการณ์ที่เป็นความเชื่อว่าเกิดจากพญานาค เช่น บั้งไฟพญานาคที่เกิดขึ้นในแต่ละปีที่จังหวัดหนองคาย เป็นต้น
ในการกล่าวถึงนาคในด้านศิลปะนี้ ในบทความนี้จะกล่าวถึงในศิลปะเขมร เพราะเป็นศิลปะที่เข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทย ดั่งที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน เช่น ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และโบราณสถานอื่นๆ นาคในศิลปะบันทายสรี-ศิลปะคลัง จะปรากฏนาคเป็นภาพนูนอยู่ที่หน้าบัน จะถูกคายโดยมกร นาคนั้นมีลักษณะมีรัศมีที่คล้ายมงกุฎขนาดเล็กที่เศียร



ศิลปะบาปวนนั้น  ปรากฏนาคที่เป็นรูปลอยตัว จะมีลักษณะที่เศียรไม่มีเครื่องประดับ เหมือนหัวงูทั่วไป หรือเรียกได้ว่าเป็นนาคหัวโล้น ไม่มีรัศมี ซึ่งในประเทศไทย สามารถไปชมได้ที่ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น



และนาคในสมัยต่อมาคือ สมัยนครวัด ซึ่งเป็นสมัยที่ศิลปะเขมรมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก นาคที่ปรากฏแบบแผ่พังพาน มีเครื่องประดับเป็นรัศมีที่เศียร สามารถเดินทางไปชมได้ในประเทศไทย เช่น ปราสาทพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง เป็นต้น หรือที่ นครวัด ประเทศกัมพูชา ที่เป็นแหล่งกำเนิดของศิลปะนี้


ซึ่งในปราสาทพนมรุ้งนั้นมีทับหลังที่เกี่ยวกับพญานาคอยู่ด้วย มีชื่อเรียกคือ นารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นการสลักเรื่องราวของพระนารายณ์ที่บรรทมอยู่บนพญาอนันตนาคราช มีพระลักษมีที่เป็นพระชายาปรนนิบัติ และมีพรพรหมที่ประทับบนดอกบัวออกมาจากพระนาภี(สะดือ) ซึ่งทับหลังชิ้นนี้ ในอดีตถูกโจรกรรมไปจากปราสาทพนมรุ้งซึ่งในปัจจุบันสามารถนำกลับคืนมาได้ แต่ยังไม่ครบ ทำให้ทับหลังไม่มีความสมบูรณ์

              


               จากเหตุการณ์ที่กล่าวไปข้างต้นเกี่ยวกับพญานาคในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น ทำให้มีประติมากรรมพระพุทธรูปที่บอกเล่าเรื่องราวในครั้งนั้น หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ปางนาคปรก โดยปางนี้นิยมสร้างในศิลปะบาปวน ศิลปะนครวัด และศิลปะบายน เพราะในสมัยบาปวนพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง กอปรกับความเชื่อดั้งเดิมที่นับถือพญานาค และพระมหากษัตริย์ทรงอุปภัมถ์พุทธศาสนานิกายมหายาน  และในประเทศไทยก็พบหลักฐานเป็นพระพุทธรูปหินแกะสลักปางนาคปรก เป็นศิลปะแบบบายน ซึ่งคาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะขอมตั้งแต่สมัยอยุธยา

ที่มารูปภาพ http://www.arjanram.com/relic_detail.php?g=1&id=535
               นาคนั้นยังมีตำนานเกี่ยวถึงอีกมากมาย ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของผู้พิทักษ์ทางศาสนา และบ้างก็ว่า นาคนั้นเป็นตัวแทนสะพานสายรุ้งที่เชื่อมต่อระหว่างโลกสวรรค์ และโลกมนุษย์ จึงจะเห็นได้ว่ามักมีสะพานที่เป็นนาคก่อนเข้าไปถึงตัวปราสาท


               สำหรับในบล็อกนี้ หวังว่าจะเป็นเกร็ดความรู้เล็กน้อยให้กับคนที่สนใจจะไปเที่ยวในโบราณสถานต่างๆ การไปเที่ยวปราสาทจะไม่ใช่แค่ไปดูหินก้อนใหญ่ที่ถูกก่อสร้างไว้อย่างที่คุณคิด เพราะหินเหล่านั้นมีลวดลายที่กำลังบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ ความเชื่อ และความเจริญรุ่งเรืองในอดีต เมื่อคุณเข้าใจการบอกเล่านั้น การเที่ยวโบราณสถานก็จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ ที่มีไว้แค่ถ่ายรูปสวยๆอีกต่อไป



               แหล่งอ้างอิง
กวิฎ  ตั้งจรัสวงศ์. (ม.ป.ป.). อสูรยุดนาคที่ซุ้มประตูเมืองธมด้านทิศใต้. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562,
เชษฐ์  ติงชัญชลี. (2560). ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. พิมพ์ครั้งที่ 3.
นนทบุรี: มิวเซียมเพรส.
ราม  วัชรประดิษฐ์. (ม.ป.ป.). พระปางนาคปรก. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562, จาก
วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ. (2551). ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ : ของจริงหรือของปลอม. สืบค้นเมื่อวันที่ 25
สามารถ  ทรัพย์เย็น. (2561). นาคี นาคา ฉบับวาไรตี้ และเกร็ดความแตกต่างของนาคแต่ละจุดที่ปราสาทพนมรุ้ง.
สืบค้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562, จาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_7817
Sweet Girl. (2554). ศิลปกรรมเขมร. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562, จาก
              

วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2562

มกร ตัวกินนาค

มื่อกล่าวถึงสัตว์ในตำนาน หลายคนอาจจะนึกถึง มังกร นกฟีนิกซ์ ยูนิคอร์น หรือไฮดรา แต่หากกล่าวถึงสัตว์ในตำนานของไทย คำตอบแรกที่หลายคนนึกถึงคงเป็นพญานาค พญาครุฑ กินรี เป็นต้น หรือถ้ามองในภาพกว้าง คือ สัตว์ในป่าหิมพานต์ ซึ่งลักษณะของสัตว์นั้น จะเป็นการนำสัตว์ชนิดต่างๆมารวมกัน ทำให้ได้เป็นสัตว์ที่เป็นตำนาน ที่ไม่สามารถเห็นได้ในชีวิตจริง เช่น กินรีที่มีท่อนบนเป็นผู้หญิง แต่ท่อนล่างมีลักษณะเป็นนก หรือคชสีห์ ที่ตัวเป็นสิงห์ แต่มีงวง และงาเหมือนช้าง ซึ่งบทความนี้จะกล่าวถึง มกร หรืออีกชื่อคือ เหรา 
ป่าหิมพานต์ เป็นความเชื่อในศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ ซึ่งเชื่อว่าเป็นป่าที่อยู่เชิงเขาพระสุเมรุ เป็นที่อยู่ของคนธรรพ์ สัตว์ในตำนาน หรือแม้แต่นารีผลที่เป็นต้นไม้ที่ออกผลเป็นผู้หญิง ก่อนที่จะเน่าสลายไปใน 7วัน ซึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ในอดีตได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ ทำให้ศิลปะในสมัยก่อน เช่น  รูปปั้น หรือเรื่องราวที่สลักที่ฝาผนัง มีความคล้ายคลึงกัน เพราะมีความเชื่อในเรื่องเดียวกัน
มกร (มะ-กอน/มะ-กะ-ระ) หรือ เหรา (เห-รา) เป็นสัตว์ที่มีความไม่แน่ชัดในที่มาของลักษณะ บ้างก็ว่ามกรเป็นส่วนผสมของปลา ช้าง และจระเข้ หรือแค่ช้าง และจรเข้ หรือพญานาค และจระเข้ หรือแม้แต่พญานาค และมังกร นอกจานี้ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น เบญจลักษณ์ และตัวสำรอก เนื่องจากศิลปะที่ปรากฏให้เห็นนั้น มกรมักจะคาย หรือสำรอกสิ่งต่างๆออกมา ยกตัวอย่างเช่น รูปปั้นบริเวณบันไดของวัดที่มกรคายพญานาคออก จึงทำให้มีอีกชื่อเรียกว่า ตัวกินนาค
ที่มารูปภาพ https://talk.mthai.com/inbox/370880.html?fbclid=IwAR0OpkaqtmUMNodKEn7iL4ttU_iSgQUv1nkpm8mEa9Pm_yICTLmrnSezzik
มกร เป็นศิลปะที่ปรากฏให้เห็นในศิลปะของไทย เมียนมา กัมพูชา ล้านนา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดีย ในความเชื่อนั้น มกรเป็นสัญลักญณ์ที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ เพราะการคายสิ่งต่างๆออกมา และสัตว์ที่เป็นส่วนผสมของมกรนั้น ก็เป็นสัตว์ที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นช้าง ปลา หรือจระเข้ และในศิลปะเขมรนั้น มกรถูกใช้เป็นลวดลายของทับหลังที่ถูกประดับเหนือประตู เพื่อเป็นการอวยพรให้ผู้ที่เข้ามามีความสุข และความอุดมสมบูรณ์ เช่น ศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุก และศิลปะแบบพระโค เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่า มกรเป็นสัตว์พาหนะของพระแม่คงคา และพระวรุณ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งแม่น้ำ และสายฝนอีกด้วย


ที่มารูปภาพ https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=surya21&month=04-2013&date=03&group=4&gblog=109&fbclid=IwAR0j-Fofk44y55uwbtVIv6-CtdCQt207oh3e-un67ZFgwdgyIJBBIKTPuNY

มกรที่ปรากฏในไทยนั้น จะปรากฏในรูปของตัวกินนาค ซึ่งจะพบเห็นได้ตามวัดต่างๆ โดยเฉพาะภาคเหนือ มกรคายนาคนี้ถือเป็นศิลปะล้านนา ซึ่งสามารถตีความหมายได้ 2 แบบ คือ 1.เป็นการเปรียบเทียบว่า มกร คือพม่า ส่วนพญานาค คืออาณาจักรล้านนา ซึ่งหมายถึงการหลุดพ้นจากอิทธิพลทางศิลปะ และการปกครองของพม่าที่เข้ามาครอบครองอาณาจักรล้านนากว่า 200 ปี และ 2.เป็นความหมายในทางพระพุทธศาสนา เปรียบมกรเป็นความรัก โลภ โกรธ หลง ส่วนนาคนั้นคือ ตัวเรา แปลความหมายได้ว่า หากตัวเรายังยึดติดกับความลุ่มหลงต่างๆ เราก็เหมือนกับพญานาคที่ถูกมกรยึดติดไว้ ไม่หลุดพ้นจากความทุกข์ หรือปล่อยวางได้ และยังมีอีกอย่างที่ต้องเป็นมกรคายนาค ไกด์ประจำสถานที่ท่องเที่ยวในอำเภอบอกว่า หากเราปั้นเฉพาะพญานาคลำตัวก็จะยาว จึงต้องปั้นให้เป็นมกรคายนาค เพราะมกรนั้นพอดีกับความยาวของราวบันได

ที่มารูปภาพ http://paapaii.com/travel-give-good-2018/

มกรนั้น ถือเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ที่มีความสำคัญในทางศิลปะไม่น้อย แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รู้จัก หรือให้ความสำคัญใดๆเลย และมกรยังเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถนำมาบ่งบอกถึงยุคศิลปะต่างๆได้ ในบทความนี้ทางผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้อ่านจะได้รู้จักกับมกร หรือตัวกินนาคนี้มากขึ้น และหากท่านลองสังเกตตามบันไดที่วัดต่างๆ ท่านอาจจะเห็นตัวกินนาคที่ท่านอาจเคยมองข้ามไป


แหล่งอ้างอิง
เชษฐ์ เชษฐ์  ติงชัญชลี. (2560). ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. พิมพ์ครั้งที่ 3.
นนทบุรี: มิวเซียมเพรส.
MTHAI. (2556). ตัวกินนาค. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562, จาก