ในบทความที่แล้วเป็นเรื่องราวเกี่ยวนาค
(คลิกอ่านได้ที่นี่) เมื่อได้ทำการค้นหาข้อมูลมาประกอบการเขียน ก็ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้ง
ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกขโมยไป แต่ในปัจจุบันสามารถทวงคืนกลับมาได้ ซึ่งเป็นที่มาของบทความนี้
นารายณ์บรรทมสินธุ์
หรืออีกชื่อหนึ่งคือ วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ เป็นประติมากรรมที่เล่าเรื่องราวของพระนารายณ์ขณะที่กำลังนอนอยู่บนตัวพญาอนันตราคราช
โดยมีพระนางลักษมีผู้เป็นชายาคอยปรนนิบัติ และมีพระพรหมที่นั่งอยู่บนดอกบัวผุดออกจากสะดือของพระนารายณ์
เป็นการสื่อถึงการสร้างโลกใบใหม่ หลังจากที่ถูกโลกทำลายไปแล้ว ถูกกล่าวอยู่ในมหาภารตะว่า
“.....โลกเมื่อถึงคราวสิ้นกัลป์
(หนึ่งกัลป์เท่ากับหนึ่งวันของพระพรหม) ทุกสรรพสิ่งถูกทำลายล้าง
พื้นดินจมลงสู่ใต้มหาสมุทรพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงพระนามว่า “นารายณ์”
ผู้มีพันพระเนตรและพันพระบาท บรรทมอยู่ที่ท่ามกลางเกษียรสมุทร
มีพญานาคผู้มีพันเศียรรองรับองค์พระผู้เป็นเจ้า ...เมื่อพระองค์ตื่นบรรทม
และมองเห็นโลกที่ว่างเปล่า
พระองค์ได้ตั้งสมาธิเพื่อการสร้างสรรค์สรรพสัตว์ขึ้นใหม่ ในขณะนั้น
ได้เกิดดอกบัว(หมายถึงความบริสุทธิ์) ดอกหนึ่ง ผุดขึ้นจากพระนาภี
(สะดือ)จากผลของสมาธินั้น แล้วพระพรหมผู้มีสี่พักตร์ก็ได้ปรากฏขึ้นบนดอกบัวนั้น.....”
การสลักเล่าเรื่องนารายณ์บรรทมสินธุ์ปรากฏให้เห็นได้ทั่วไปในโบราณสถานต่าง
ๆ ไม่ว่าจะเป็นในอินเดีย กัมพูชา หรือแม้แต่ในประเทศไทยเอง และหนึ่งในนั้น ก็ปรากฏบนทับหลังของปราสาทพนมรุ้ง
ที่มารูปภาพ https://www.panchdoot.com/latest-news/devshayani-ekadashi-2018-significance-fasting-and-muhurat-timings-of-padma-ekadashi/ |
ปราสาทพนมรุ้งตั้งอยู่บนภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว
ของจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นในสมัยพระนคร
หรือสร้างร่วมสมัยกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่เป็นผู้สร้างนครวัดอันยิ่งใหญ่
แต่ปราสาทพนมรุ้งนี้สร้างโดย พระเจ้านเรนทราทิตย ผู้เป็นญาติกัน ซึ่งปราสาทหลังนี้สร้างเพื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ในลัทธิไศวะนิกาย ซึ่งเปรียบเขาพนมรุ้ง เป็นเขาไกรลาสสถานที่ประทับของพระศิวะ
และเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางของจักรวาล
ที่มารูปภาพ https://www.museumthailand.com/th/museum/Phanomrung-Historical-Park |
และเมื่อมาถึงปราสาทพนมรุ้งแล้ว
สิ่งที่พลาดไม่ได้ในการเข้ามาเยี่ยมชมคือ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ถูกประดับไว้ที่ทางเข้าปราสาทประธาน
ด้านทิศตะวันออก “แกะสลักเป็นภาพพระวิษณุหรือพระนารายณ์ สี่กร บรรทมตะแคงขวา
บนหลังพญาอนันตนาคราชซึ่งทอดตัวอยู่บนหลังมังกร พระหัตถ์ขวาหน้ารองรับพระเศียร
พระหัตถ์ขวาหลังทรงถือจักร พระหัตถ์ซ้ายหน้าทรงถือคทา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายหลังทรงถือสังข์
(?) ที่ปลายพระบาทของพระนารายณ์
เป็นภาพพระนางลักษมีชายาของพระองค์ เหนือองค์พระนารายณ์
แกะสลักเป็นรูปดอกบัวที่โผล่ขึ้นมาจากพระนาภีองค์พระนารายณ์
ภายในดอกบัวแกะสลักเป็นรูปพระพรหม สี่พักตร์ สี่กร
พระหัตถ์ทั้งสี่ไม่สามารถระบุได้ว่าทรงถืออะไร ภาพทั้งหมดจัดไว้กึ่งกลางทับหลัง
ส่วนด้านซ้ายและด้านขวาทำเป็นรูปหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย เหนือขึ้นไปเป็นรูปครุฑ
ข้างครุฑเป็นภาพนกหัสดีลิงค์คาบช้าง และภาพลิงอุ้มลูก
ส่วนด้านใต้หน้ากาลเป็นภาพนกแก้ว 2 ตัว การออกแบบลวดลายและการแกะสลักประณีต
จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นทับหลังที่งดงามที่สุดในประเทศไทย” ( วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ ,
2551)
ที่มารูปภาพ https://www.pinterest.co.uk/pin/408138784974463219/ |
ซึ่งสิ่งที่ให้ทับหลังนี้เป็นที่รู้จัก เพราะในอดีตทับหลังชิ้นนี้ถูกโจรกรรมไป นานเกือบ 30 ปี จนถูกพบที่สถาบันศิลปะ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา จึงได้ทำหนังสือเพื่อขอคืนทับหลังชิ้นนี้ในพ.ศ.2516 แต่ยังไม่สำเร็จ จนเมื่อพ.ศ.2531 เกิดเหตุการณ์รณรงค์เพื่อรื้อฟื้นขอคืนทับหลังโดยทำหนังสือถึงเอกอักคราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ในขณะนั้น จากการเคลื่อนไหวของหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งข้าราชการส่วนที่เกี่ยวข้อง ประชาชนต่าง ๆ ทั้งพ่อค้า และนักศึกษา ในประเทศไทยกว่า 15,000 คน นอกจากนี้ยังมีการแต่งเพลงทับหลัง จากวงคาราบาวเพื่อเป็นสื่อในการรณรงค์อีกทางหนึ่งด้วย รวมถึงการเคลื่อนไหวจากนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็น คนไทยที่อยู่ในเมืองชิคาโก ชาวอเมริกันและชนชาติอื่น ๆ จนในที่สุดจึงได้ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับมาในไทย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2531 และได้นำกลับมาไว้ที่ปราสาทพนมรุ้ง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2531 หลังจากที่ได้นำไปจัดแสดงให้ประชาชนได้เยี่ยมชม
ที่มารูปภาพ http://www.wisut.net/บุรีรัมย์-บทความ/ทับหลังนารายณ์บรรทมสิน/ |
แต่ในอีก
10 ปีต่อมา ได้เกิดความสงสัยว่าทับหลังที่นำกลับมาได้นี้ เป็นของจริงหรือของปลอม
เพราะทับหลังสามารถปลอมแปลงกันได้ง่าย นักโบราณคดีหลายคนจึงต้องการให้กรมศิลปากรพิสูจน์
แต่กรมศิลปากรยืนยันแล้วว่า ทับหลังชิ้นนี้ได้ผ่านการพิสูจน์ และเป็นของจริงแน่นอน
กว่าทับหลังชิ้นนี้จะกลับคืนมาเป็นสมบัติของชาติได้
ก็ใช้เวลาเกือบ 30 ปี และสามารถทำสำเร็จได้ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของคนไทยทั้งประเทศ
รวมถึงการสนับสนุนจากต่างชาติ ดังนั้น เราจึงควร “รักษ์ และดูแล” เพื่อการคงอยู่ของสมบัติแห่งชาติ
เพราะฉะนั้น เวลาไปเที่ยวปราสาทพนมรุ้ง ก็อย่าลืมแวะไปชมทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
เพราะถือเป็นทับหลังที่มีเนื่องราวน่าสนใจเป็นอย่างมาก
แหล่งอ้างอิง
มิวเซียมไทยแลนด์. (2562). อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง.
สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2562, จาก
วรณัย พงศาชลากร.
(2555). “วิษณุอนันตศายิน - นารายณ์บรรทมสินธุ์” จากทั่วถิ่นเมืองไทย
...อยู่ที่ไหนบ้าง ?.
สืบค้นเมื่อวันที่
15 กันยายน 2562, จาก
วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ.
(2551). ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
: ของจริงหรือของปลอม. สืบค้นเมื่อวันที่
25
Tnews.
(2560). ย้อนรอย ทวงคืนสมบัติชาติจากสหรัฐฯ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” กลับคืนสู่แดนไทย
หลังหายไปนานกว่า 30 ปี
(รายละเอียด). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2562, จาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น