ช้าง
เป็นสัตว์ที่ถูกยกให้เป็นสัตว์ประจำชาติของไทย
เนื่องจากมีความสำคัญตั้งแต่สมัยอดีตกาล เพราะเป็นสัตว์ที่ใช้ในการสู้รบ
กอบกู้เอกราช เช่น ในครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของหงสาวดี
เป็นต้น และในการทำสงครามในอีกหลายครั้ง
นอกจากนี้ช้างยังถือเป็นเครื่องทุ่นแรงในการเคลื่อนย้ายไม้ที่มีการทำสัมปทานในสมัยก่อน
และนอกจากในประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับช้างแล้ว ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ช้างก็ถือเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์
และในบทความนี้เราจะกล่าวถึงช้างเอราวัณ
ช้างที่ถือได้ว่าเป็นที่รู้จักทั้งในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
และยังมีอิทธิพลความเชื่อแผ่ขยายมาถึงประเทศไทย
ที่มารูปภาพ https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/48900 |
ช้างเอราวัณมีหลายตำนานที่มา บ้างเป็นช้างที่พระศิวะมอบให้พระอินทร์
บ้างก็ว่าเอราวัณเป็นเทวดาที่อาศัยอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
เมื่อพระอินทร์ต้องการไปที่ใดเอราวัณก็จะแปลงกายเป็นช้างเผือกเป็นพาหนะให้พระอินทร์
และอีกหนึ่งตำนานคือ เป็นของวิเศษที่เกิดมาจากการกวนเกษียรสมุทร
เป็นของวิเศษที่ผุดขึ้นมาเป็นชิ้นที่ 5 การกวนเกษียรสมุทรนี้เกิดขึ้นจากอุบายของพระนารายณ์
(ซึ่งบทความก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวกับนารายณ์บรรทมสินธุ์)
เนื่องจากก่อนหน้านี้เหล่าเทวดาถูกฤๅษีสาปไม่ให้มีชัยชนะในการทำสงครามกับเหล่าอสูร
จึงเกิดข้อตกลงในการสงบสุขชั่วคราวเพื่อมาช่วยกันกวนเกษียรสมุทรทำน้ำอมฤตเพื่อความเป็นอมตะ
แต่สุดท้ายด้วยความที่เป็นอุบายของเหล่าเทวดา หรือเรียกอย่างเข้าใจง่ายๆ
คือการหลอกใช้ ทำให้เหล่าอสูรไม่ได้อะไรเลย แม้แต่ของวิเศษสักชิ้น เหล่านางอัปสร
หรือน้ำแห่งความอมตะ มีเพียงพระราหูเท่านั้นที่อาศัยช่วงชุลมุนที่เหล่าอสูรไปจับนางอัปสรมากินไปได้
แต่สุดท้ายก็ถูกพระจันทร์ และพระอาทิตย์ไปแจ้งต่อพระนารายณ์
พระราหูจึงถูกจักรตัดเหลือครึ่งตัว ทำให้พระราหูเกิดความแค้นต่อพระอาทิตย์
และพระจันทร์ และเกิดเป็นปรากฏการณ์อย่างสุริยุปราคา และจันทรุปราคานั่นเอง
และนอกจากนี้เหล่าอสูรยังถูกพิษจากการยุดนาคที่ส่วนหัวทำให้หน้าตาของเหล่าอสูรน่าเกลียดน่ากลัว
ที่มารูปภาพ https://www.ch3thailand.com/news/scoop/14034 |
ช้างเอราวัณนั้นมีลักษณะที่ถูกกล่าวไว้ในไตรภูมิพระร่วง
ดังนี้ “...และว่ายังมีเทพยดาองค์ ๑ ชื่อ
ไอยราวรรณเทพบุตร ผิแลเมื่อพระอินทร์เจ้าแลมีที่สเด็จไปเล่นแห่งใดๆ ก็ดี แล ธ
จะใคร่ขี่ช้างไปเล่นจึงไอยราวรรณเทพบุตรก็นิมิตรตัวเป็นช้างเผือกตัว ๑
ใหญ่นักโดยสูงได้ ๑,๒๐๐,๐๐๐ วา แลมีหัวได้ ๓๓ หัวๆ น้อยๆ อยู่สองหัวอยู่สองข้าง
นอกหัวทั้งหลายนั้นแลว่าหัวใหญ่ได้ ๒,๐๐๐ วา
แลหัวถัดเข้าไปทั้งสองข้างแลหัวแล ๓,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๔,๐๐๐ วา
ถัดนั้นเข้าไปแลหัวแล ๕,๐๐๐ วา ถัดนั้นเข้ากว้างแลหัวแล ๖,๐๐๐ วา
เร่งเข้าไปเถิงในก็เริงใหญ่ตัดกันเข้าไปดังกล่าวนี้แล
ส่วนหัวอันใหญ่ที่อยู่ท่ามกลางทั้งหลายชื่อ สุทัศ
เป็นพระที่นั่งแห่งพระอินทร์โดยกว้างได้ ๒,๔๐๐,๐๐๐ วาแลฯ เหนือหัวตัวนั้นแลมีแท่นแก้วหนึ่งกว้างได้
๙๖,๐๐๐ วา แลมีปราสาทกลางแท่นแก้วนั้นมีทั้งสองแก้วฝูงนั้นโดยสูงได้ ๘,๐๐๐ วา
ทั้งฝูงนั้นเทียรย่อมแก้ว ๗ สิ่ง แลมีพรวนทองคำห้อยย้อยลงทุกแห่งแกว่งไปมา
แลมีเสียงนั้นไพเราะนักหนาดังเสียงพาทย์พิณในเมืองฟ้า ในปราสาทนั้นเทียรย่อมดัดเพดานผ้าทิพย์แลมีแท่นนอนอยู่ในที่นั้นกว้างได้
๘,๐๐๐ วา แลมีราชอาสน์หนาหมอนใหญ่หมอนน้อย หมอนอิง
องค์พระอินทร์นั้นสูงได้ ๖,๐๐๐ วา แลประดับนี้ด้วยแก้วถนิอาภรณ์ทั้งหลายแล ธ
นั่งเหนือแท่นแก้วนั้น หัวช้างได้ ๓๓ หัวไส้ พระอินทร์ให้เทพยดาทั้งหลายขี่ ๒๒
หัวนั้น มีบุญเพียงประดุจพระอินทร์ไส้ฯ อันว่าหัวช้างทั้ง ๓๓ หัว แลหัวๆ มีงา ๗
อันแลงาแต่ละอันยาวได้ ๔๐๐,๐๐๐ วา แลงานนั้นมีสระได้ ๗ สระๆ แลสระนั้นมีบัวได้ ๗ กอๆ
บัวแลกอนั้นมีดอก ๗ ดอกๆ แลอันนั้นมีกลีบ ๗ กลีบๆ แลอันๆ มีนางฟ้ายืนรำระบำบรรพต
แล ๗ คน แลนางแลคนๆ นั้นมาสาวใช้ได้ ๗ คนโสด...”
สรุปลักษณะที่สังเกตได้โดยง่ายนอกจากร่างกายที่มีขนาดมโหฬาร
สีขาวที่โดดเด่นแล้ว ก็มีลักษณะพิเศษดังต่อไปนี้ มีหัว
33 หัว
แต่ละหัวมีงา
7 อัน
แต่ละงามีสระโบกขรณี
7 สระ
แต่ละสระมีกอบัว
7 กอ
แต่ละกอบัวมีดอกบัว 7 ดอก
แต่ละกอบัวมีดอกบัว 7 ดอก
แต่ละดอกบัวมีกลีบดอก 7 กลีบ
แต่ละกลีบมีนางอัปสร
7 นาง
แต่ละนางอัปสรมีบริวาร
7 คน
นั่นก็คือ นอกจากหัวแล้ว นอกนั้นก็ 7
ของแต่ละสิ่งก่อนหน้านี้นั่นเอง
ที่มารูปภาพ https://sites.google.com/site/bthphakyxerawanmew11/xun/prawati-chang-xerawan |
หน้าที่ของช้างเอราวัณ
ก็คือการเป็นพาหนะให้พระอินทร์ทั้งในการเดินทางต่าง ๆ ในการทำสงครามกับเหล่าอสูร
และการดูแลโลกในทิศตะวันออก และชื่อช้างเอราวัณนั้น ในแต่ละภาษาก็จะเรียกต่างกันไป
ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย เรียกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นไอราพต
ไอราวัต ไอราวัณ และ เอราวัณ ภาษาสันสฤต เรียกว่าไอราวต ไอราวณ ส่วนภาษาบาลีเรียกว่า
เอราวณ ซึ่งแต่ละชื่อ มีความหมายเกี่ยวกับน้ำ เมฆฝน หรือรุ้ง
ด้วยความที่พระอินทร์เป็นเทพเกี่ยวกับการดูแลดิน ฟ้า อากาศ
เมื่อต้องการให้เกิดฝนพระอินทร์จะให้ช้างเอราวัณให้ดูดน้ำจากโลกมนุษย์ขึ้นไปโปรยบนฟ้าเพื่อทำให้เกิดฝนตกลงไปแทนที่ความแห้งแล้ง
ทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์
นอกจากนี้ช้างเอราวัณยังเป็นสัญลักษณ์ของการทำดี และเป็นเจ้าแห่งช้าง
จากที่อ่านมาหลายคนอาจจะงงว่าช้างเอราวัณนั้นมี
33 หัว แต่ที่เห็นทำไมมีแค่ 3 หัว คงเพราะเพื่อความสวยงามทางศิลปะ
และง่ายต่อการสร้าง ซึ่งขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจมาให้ได้รู้จักกัน ดังนี้
1.ทับหลัง ซึ่งทับหลังของช้างเอราวัณนั้นจะเป็นในแบบที่มากับพระอินทร์
และมักอยู่ทางทิศตะวันออก เพราะพระอินทร์นั้นเป็นเทพประจำทิศ
ที่มารูปภาพ http://scaasa.org/?p=571 |
2.รูปปั้น จะเห็นเป็นลักษณะที่มี 3 หัว
แต่ละหัวมีงา 2 อัน
ที่มารูปภาพ https://www.traveloka.com/th-th/activities/thailand/product/the-erawan-museum-tickets-2001690933875 |
3.ธงชาติ มีปรากฏทั้งเคยเป็นธงชาติลาว
และธงราชอิสรยศ
ธงชาติลาว เป็นลักษณะช้างเอราวัณ 3 หัว
ยืนอยู่ใต้พระมหาเศวตฉัตรที่มารูปภาพ https://sites.google.com/site/suckseedpotato/thng-praca-chati |
ธงราชอิสรยศ
สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยมีช้างเอราวัณอยู่ตรงกลางธง ที่หลังมีมหาพิชัยมงกุฎ สองข้างมีเครื่องสูง 7 ชั้น
ที่มารูปภาพ https://workpointnews.com/2019/05/07/สง่างาม-ธงมหาราชใหญ่10/ |
4.สัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณบนก้อนเมฆ
ที่มือถืออาวุธประจำกาย
ที่มารูปภาพ https://poppoojung.wordpress.com/สัญลักษณ์ประจำกรุงเทพม/ |
แหล่งอ้างอิง
วิยะดา ทองมิตร. (ม.ป.ป.). ช้างเอราวัณ
หรือ ช้างสามเศียร พาหนะแห่งพระอินทร์เจ้าแห่งสวรรค์.
พระธีระยุทธ อานนฺทมุนี. (ม.ป.ป.). ประเทศลาว
ธงประจำชาติ. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562, จาก
Lookhin. (2560). ตำนานการกวนเกษียรสมุทร. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2562, จาก
The Erawan
group. (ม.ป.ป.). ตำนานเอราวัณ.
สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2562, จาก
Tunchanok
Chienvichai. (ม.ป.ป.). สัญลักษณ์ประจำกรุงเทพมหานคร.
สืบค้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562,
WorkpointNews. (2562). สง่างาม
“ธงมหาราชใหญ่” พระราชอิสริยยศแห่งพระมหากษัตริย์ ขึ้นเหนือ
พระบรมมหาราชวัง. สืบค้นเมื่อวันที่
22 พฤศจิกายน 2562, จาก https://workpointnews.com/2019/05/07/สง่างาม-ธงมหาราชใหญ่10
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น