วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2564

โฮโมอีเร็กตัส : มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ผู้ริเริ่มการใช้ไฟ

 

โฮโมอีเร็กตัส : มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ผู้ริเริ่มการใช้ไฟ

 

          “มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฉลาดที่สุดในโลก” เป็นประโยคที่คงจะคุ้นหูหลายคนไม่น้อย แต่รู้หรือไม่ก่อนที่มนุษย์จะกลายเป็นสัตว์ที่ฉลาดอย่างทุกวันนี้ย่อมต้องผ่านวิวัฒนาการมากว่าหลายหมื่น หลายแสนปี และในบทความนี้จะกล่าวถึงมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งสปีชีส์ของมนุษย์มีหลากหลาย แต่ในบล็อกนี้เราจะมากล่าวถึงโฮโมอีเร็กตัส ที่มีการสันนิษฐานว่าเป็นผู้ริเริ่มนำไฟมาใช้


          โฮโมอีเร็กตัส (Homo erectus) หมายถึง มนุษย์ที่ยืนตรง ซึ่งค้นพบหลักฐานซากบรรพชีวินครั้งแรกที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย โดยอูจีน ดูบัวส์ ในปี ค.ศ. 1891 ซึ่งกระดูกที่พบคือกะโหลกศีรษะ และชิ้นส่วนกระดูกต้นขา อูจีน ดูบัวส์จึงให้ชื่อว่า “พิธิแคนโทรปัส อีเร็กตัส” แปลว่ามนุษย์วานรที่เดินตัวตรง เพราะหลักฐานสองชิ้นนี้ที่พบ ทำให้เขาสันนิษฐานว่าเป็นกระดูกของสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายลิงแต่ไม่มีหาง และสามารถเดินสองขาได้ หรืออีกชื่อที่ถูกเรียกคือ “มนุษย์ชวา” เพราะเรียกตามแหล่งที่ค้นพบ ต่อมาได้มีการค้นหาหลักฐานกันมากขึ้น จนพบทั้งในประเทศจีนที่ถ้ำโจวโกวเตียน ใกล้เมืองปักกิ่ง จึงถูกตั้งชื่อว่า “ซีแนนโทรปัส เปกินเนนซิส” แปลว่ามนุษย์จีน แห่งปักกิ่ง หรือเรียกอีกอย่างว่า “มนุษย์ปักกิ่ง” ส่วนในประเทศไทยก็มีการค้นพบชิ้นส่วนกะโหลกโฮโมอีเร็กตัสเช่นเดียว จึงได้ให้ชื่อว่า “มนุษย์ลำปาง” เป็นชื่อตามแหล่งค้นพบคือที่จังหวัดลำปางนั้นเอง

ภาพกะโหลกศีรษะของมนุษย์ชวา ที่มา https://www.worldhistory.org/image/6267/homo-erectus-skull-cast-from-java-indonesia/


          หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบมีอายุประมาณ 1.9 ล้านปีก่อน ส่วนหลักฐานที่ใหม่ที่สุดมีอายุประมาณ 27,000 ปี ซึ่งสันนิษฐานว่าต้นกำเนิดของโฮโมอีเร็กตัสคือแอฟริกา เพราะพบซากบรรพชีวินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด หลังจากนั้นจึงได้อพยพมาที่จอร์เจีย ลังกา จีน และชวา จะเห็นได้ว่าโฮโมอีเร็กตัสมีการปรับตัวจนดำรงเผ่าพันธุ์ของตนเองได้เป็นล้านปี ในบางทฤษฎีเชื่อว่าโฮโมอีเร็กตัสสามารถต่อเรือเพื่ออพยพได้ เพราะในบางพื้นที่อย่างเกาะครีต เกาะฟลอเรสของอินโดนีเซียที่พบหลักฐานเกี่ยวกับมนุษย์โบราณที่เชื่อว่ามีบรรพบุรุษจากโฮโมอีเร็กตัส ซึ่งการจะเดินทางไปถึงเกาะนี้ได้นั้น ต้องอาศัยการใช้เรือเพราะบริเวณมหาสมุทรนั้นมีกระแสน้ำที่รุนแรง แต่ในบางทฤษฎีกล่าวถึงการอพยพของโฮโมอีเร็กตัสด้วยการเดิน เพราะในยุคสมัยนั้นน้ำทะเลยังไม่สูงอย่างในปัจจุบัน ทำให้มีพื้นดินที่เชื่อมโยงกันอยู่

          โฮโมอีเร็กตัสมีลักษณะรูปร่างที่ค่อนข้างสูงคล้ายคลึงกับมนุษย์ยุคปัจจุบันมากกว่าสปีชีส์โฮโมอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ ลักษณะของกะโหลกมีขนาดใหญ่กว่าโฮโมแฮบิลิส และด้านหน้ากะโหลกจะแคบกว่าโฮโมเซเปียนส์ ทำให้โฮโมอีเร็กตัสมีขนาดสมองประมาณ 40% ของมนุษย์ปัจจุบัน มีกระดูกคิ้วที่โปนขึ้น ใบหน้ามีฟันยื่นออกมา ฟันและขากรรไกรล่างมีขนาดใหญ่กว่ามนุษย์ปัจจุบัน บางกลุ่มที่พบในเอเชียมีลักษณะกะโหลกโปน และจมูกแบน

ที่มา https://www.worldhistory.org/Homo_Erectus/


          วิถีชีวิตของโฮโมอีเร็กตัสจะหาอาหารโดยการเก็บพืชผัก และล่าสัตว์ ซึ่งมีหลักฐานที่พบแหล่งกระดูกขนาดใหญ่ และจากรอยฟันที่สึกก็เป็นหลักฐานว่าโฮโมอีเร็กตัสเป็นสัตว์กินเนื้อ ทั้งยังพบเครื่องมือที่ใช้แล่เนื้อ เรียกว่า “อาชูเลียน” เป็นเครื่องมือหินที่ถูกกะเทาะทั้งสองด้าน หรือเป็นขวานมือนั้นเอง ซึ่งเครื่องมือนี้เหมาะสำหรับแล่หนังและเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่ นอกจากเครื่องมืออาชูเลียนแล้ว ยังปรากฏเครื่องมืออย่างอื่นอีกด้วย เช่น เครื่องมือขูด เครื่องมือเจาะ และเครื่องมือขุด

เครื่องมือหินแบบอาชูเลียน ที่มา http://www.thapra.lib.su.ac.th/e-book/development/chapter7.pdf


          โฮโมอีเร็กตัสส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในถ้ำ เช่น ถ้ำโจวโกวเตียน ประเทศจีน แต่ในบางพื้นที่ก็พบหลักฐานในบริเวณที่เป็นพื้นที่กลางแจ้ง เช่น แหล่งชาเล ในประเทศโมร็อกโก ทั้งยังพบร่องรอยของเตาไฟ ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า โฮโมอีเร็กตัสรู้จักการใช้ไฟ นอกจากไฟจะถูกนำมาปรุงอาหารให้สุก และป้องกันสัตว์ไม่ให้เข้าใกล้แล้ว ยังมีการค้นพบเศษเครื่องปั้นดินเผาที่มีอายุ 1.42 ล้านปี ซึ่งกระบวนการทำต้องผ่านการเผาไฟก่อนอีกด้วย

ที่มา https://lifestyle.campus-star.com/scoop/131005.html


          ในปัจจุบันโฮโมอีเร็กตัสถือว่าเป็นสปีชีส์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ดร. เซรี ชิปตัน นักโบราณคดี ได้ให้เหตุผลถึงการการสูญพันธุ์ของโฮโมอีเร็กตัส เป็นเพราะความขี้เกียจ ไม่พยายามปรับตัว ไม่พัฒนาเครื่องมือ ทั้งไม่ยอมอพยพแม้แหล่งน้ำแห้งคอดไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามในความคิดเห็นของผู้เขียนมองว่า โฮโมอีเร็กตัสเป็นนักเดินทางที่แข็งแกร่งมาก ๆ เพราะหลักฐานของการเคยอาศัยอยู่ได้กระจายไปเกือบจะทุกทวีปบนโลก ทั้งยังรู้จักใช้ไฟให้เป็นประโยชน์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญของวิวัฒนาการของมนุษย์เลยก็ว่าได้

 


          อ้างอิง

ม.ป.ป. . (ม.ป.ป.). บทที่ 7 บรรพบุรุษของมนุษย์สกุล โฮโม. ค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2564.

          จาก http://www.thapra.lib.su.ac.th/e-book/development/chapter7.pdf

BBC NEWS. (2561). ชี้มนุษย์โบราณ “โฮโม อีเร็กตัส” รู้จักล่องเรือและใช้ภาษา. 

            ค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2564. จาก https://www.bbc.com/thai/features-43140426

BBC NEWS. (2561). มนุษย์โบราณโฮโม อีเร็กตัส สูญพันธุ์เพราะ “ขี้เกียจ”.

            ค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2564. จาก https://www.bbc.com/thai/features-45232934





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น