วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2562

เรื่องของนาค



“คำแก้ว มันเป็นงู” (อ่านแบบสำเนียงอีสานเพื่อความอรรถรส) เป็นประโยคยอดฮิตจากละครดังเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งตัวเอกเป็นนาคที่มาอยู่ในร่างมนุษย์ และใช่ค่ะ นาคเป็นหัวข้อที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ เนื่องจากในบทความที่แล้ว ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับมกรที่คายนาคไป (คลิกอ่านได้ที่นี่) ในครั้งนี้จึงอยากจะพาทุกคนมารู้จักกับนาคในรูปแบบของศิลปะที่น่าสนใจ

                
พญานาคนั้น เป็นความเชื่อของผู้ที่นับถือในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ ความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เช่น จากรูปถ่ายนี้คือสะพานทางประตูทางทิศใต้ทางเข้านครธม เป็นการจำลองการกวนเกษียรสมุทร โดยที่อสูร และเทวดากำลังช่วยกันยุดนาคที่ชื่อ วาสุกรี เพื่อให้ได้น้ำอมฤต และความเชื่อในศาสนาพุทธ เช่น ในครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในสัปดาห์ที่6 เกิดฝนตกหนักจึงทำให้พญานาคมุจลินท์ได้ออกมาพังพาน เพื่อป้องกันฝนให้พระพุทธเจ้า และในประเทศไทยเองก็มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่งที่เชื่อว่าเป็นที่พำนักของนาค เช่น ที่คำชะโนด ที่เชื่อว่ามีพญาศรีสุทโธนาคราชเป็นผู้ปกครอง และมีความเชื่อว่าหากใครลูบฆ้องให้เสียงกังวานได้จะประสบกับความโชคดี นอกจากนี้ยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถตักเก็บไปบูชาที่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลได้ ทั้งยังยังมีสถานที่อื่นๆอีกหลายแห้ง และมีปรากฏการณ์ที่เป็นความเชื่อว่าเกิดจากพญานาค เช่น บั้งไฟพญานาคที่เกิดขึ้นในแต่ละปีที่จังหวัดหนองคาย เป็นต้น
ในการกล่าวถึงนาคในด้านศิลปะนี้ ในบทความนี้จะกล่าวถึงในศิลปะเขมร เพราะเป็นศิลปะที่เข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทย ดั่งที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน เช่น ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และโบราณสถานอื่นๆ นาคในศิลปะบันทายสรี-ศิลปะคลัง จะปรากฏนาคเป็นภาพนูนอยู่ที่หน้าบัน จะถูกคายโดยมกร นาคนั้นมีลักษณะมีรัศมีที่คล้ายมงกุฎขนาดเล็กที่เศียร



ศิลปะบาปวนนั้น  ปรากฏนาคที่เป็นรูปลอยตัว จะมีลักษณะที่เศียรไม่มีเครื่องประดับ เหมือนหัวงูทั่วไป หรือเรียกได้ว่าเป็นนาคหัวโล้น ไม่มีรัศมี ซึ่งในประเทศไทย สามารถไปชมได้ที่ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น



และนาคในสมัยต่อมาคือ สมัยนครวัด ซึ่งเป็นสมัยที่ศิลปะเขมรมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก นาคที่ปรากฏแบบแผ่พังพาน มีเครื่องประดับเป็นรัศมีที่เศียร สามารถเดินทางไปชมได้ในประเทศไทย เช่น ปราสาทพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง เป็นต้น หรือที่ นครวัด ประเทศกัมพูชา ที่เป็นแหล่งกำเนิดของศิลปะนี้


ซึ่งในปราสาทพนมรุ้งนั้นมีทับหลังที่เกี่ยวกับพญานาคอยู่ด้วย มีชื่อเรียกคือ นารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นการสลักเรื่องราวของพระนารายณ์ที่บรรทมอยู่บนพญาอนันตนาคราช มีพระลักษมีที่เป็นพระชายาปรนนิบัติ และมีพรพรหมที่ประทับบนดอกบัวออกมาจากพระนาภี(สะดือ) ซึ่งทับหลังชิ้นนี้ ในอดีตถูกโจรกรรมไปจากปราสาทพนมรุ้งซึ่งในปัจจุบันสามารถนำกลับคืนมาได้ แต่ยังไม่ครบ ทำให้ทับหลังไม่มีความสมบูรณ์

              


               จากเหตุการณ์ที่กล่าวไปข้างต้นเกี่ยวกับพญานาคในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น ทำให้มีประติมากรรมพระพุทธรูปที่บอกเล่าเรื่องราวในครั้งนั้น หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ปางนาคปรก โดยปางนี้นิยมสร้างในศิลปะบาปวน ศิลปะนครวัด และศิลปะบายน เพราะในสมัยบาปวนพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง กอปรกับความเชื่อดั้งเดิมที่นับถือพญานาค และพระมหากษัตริย์ทรงอุปภัมถ์พุทธศาสนานิกายมหายาน  และในประเทศไทยก็พบหลักฐานเป็นพระพุทธรูปหินแกะสลักปางนาคปรก เป็นศิลปะแบบบายน ซึ่งคาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะขอมตั้งแต่สมัยอยุธยา

ที่มารูปภาพ http://www.arjanram.com/relic_detail.php?g=1&id=535
               นาคนั้นยังมีตำนานเกี่ยวถึงอีกมากมาย ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของผู้พิทักษ์ทางศาสนา และบ้างก็ว่า นาคนั้นเป็นตัวแทนสะพานสายรุ้งที่เชื่อมต่อระหว่างโลกสวรรค์ และโลกมนุษย์ จึงจะเห็นได้ว่ามักมีสะพานที่เป็นนาคก่อนเข้าไปถึงตัวปราสาท


               สำหรับในบล็อกนี้ หวังว่าจะเป็นเกร็ดความรู้เล็กน้อยให้กับคนที่สนใจจะไปเที่ยวในโบราณสถานต่างๆ การไปเที่ยวปราสาทจะไม่ใช่แค่ไปดูหินก้อนใหญ่ที่ถูกก่อสร้างไว้อย่างที่คุณคิด เพราะหินเหล่านั้นมีลวดลายที่กำลังบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ ความเชื่อ และความเจริญรุ่งเรืองในอดีต เมื่อคุณเข้าใจการบอกเล่านั้น การเที่ยวโบราณสถานก็จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ ที่มีไว้แค่ถ่ายรูปสวยๆอีกต่อไป



               แหล่งอ้างอิง
กวิฎ  ตั้งจรัสวงศ์. (ม.ป.ป.). อสูรยุดนาคที่ซุ้มประตูเมืองธมด้านทิศใต้. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562,
เชษฐ์  ติงชัญชลี. (2560). ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. พิมพ์ครั้งที่ 3.
นนทบุรี: มิวเซียมเพรส.
ราม  วัชรประดิษฐ์. (ม.ป.ป.). พระปางนาคปรก. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562, จาก
วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ. (2551). ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ : ของจริงหรือของปลอม. สืบค้นเมื่อวันที่ 25
สามารถ  ทรัพย์เย็น. (2561). นาคี นาคา ฉบับวาไรตี้ และเกร็ดความแตกต่างของนาคแต่ละจุดที่ปราสาทพนมรุ้ง.
สืบค้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562, จาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_7817
Sweet Girl. (2554). ศิลปกรรมเขมร. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562, จาก
              

วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2562

มกร ตัวกินนาค

มื่อกล่าวถึงสัตว์ในตำนาน หลายคนอาจจะนึกถึง มังกร นกฟีนิกซ์ ยูนิคอร์น หรือไฮดรา แต่หากกล่าวถึงสัตว์ในตำนานของไทย คำตอบแรกที่หลายคนนึกถึงคงเป็นพญานาค พญาครุฑ กินรี เป็นต้น หรือถ้ามองในภาพกว้าง คือ สัตว์ในป่าหิมพานต์ ซึ่งลักษณะของสัตว์นั้น จะเป็นการนำสัตว์ชนิดต่างๆมารวมกัน ทำให้ได้เป็นสัตว์ที่เป็นตำนาน ที่ไม่สามารถเห็นได้ในชีวิตจริง เช่น กินรีที่มีท่อนบนเป็นผู้หญิง แต่ท่อนล่างมีลักษณะเป็นนก หรือคชสีห์ ที่ตัวเป็นสิงห์ แต่มีงวง และงาเหมือนช้าง ซึ่งบทความนี้จะกล่าวถึง มกร หรืออีกชื่อคือ เหรา 
ป่าหิมพานต์ เป็นความเชื่อในศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ ซึ่งเชื่อว่าเป็นป่าที่อยู่เชิงเขาพระสุเมรุ เป็นที่อยู่ของคนธรรพ์ สัตว์ในตำนาน หรือแม้แต่นารีผลที่เป็นต้นไม้ที่ออกผลเป็นผู้หญิง ก่อนที่จะเน่าสลายไปใน 7วัน ซึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ในอดีตได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ ทำให้ศิลปะในสมัยก่อน เช่น  รูปปั้น หรือเรื่องราวที่สลักที่ฝาผนัง มีความคล้ายคลึงกัน เพราะมีความเชื่อในเรื่องเดียวกัน
มกร (มะ-กอน/มะ-กะ-ระ) หรือ เหรา (เห-รา) เป็นสัตว์ที่มีความไม่แน่ชัดในที่มาของลักษณะ บ้างก็ว่ามกรเป็นส่วนผสมของปลา ช้าง และจระเข้ หรือแค่ช้าง และจรเข้ หรือพญานาค และจระเข้ หรือแม้แต่พญานาค และมังกร นอกจานี้ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น เบญจลักษณ์ และตัวสำรอก เนื่องจากศิลปะที่ปรากฏให้เห็นนั้น มกรมักจะคาย หรือสำรอกสิ่งต่างๆออกมา ยกตัวอย่างเช่น รูปปั้นบริเวณบันไดของวัดที่มกรคายพญานาคออก จึงทำให้มีอีกชื่อเรียกว่า ตัวกินนาค
ที่มารูปภาพ https://talk.mthai.com/inbox/370880.html?fbclid=IwAR0OpkaqtmUMNodKEn7iL4ttU_iSgQUv1nkpm8mEa9Pm_yICTLmrnSezzik
มกร เป็นศิลปะที่ปรากฏให้เห็นในศิลปะของไทย เมียนมา กัมพูชา ล้านนา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดีย ในความเชื่อนั้น มกรเป็นสัญลักญณ์ที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ เพราะการคายสิ่งต่างๆออกมา และสัตว์ที่เป็นส่วนผสมของมกรนั้น ก็เป็นสัตว์ที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นช้าง ปลา หรือจระเข้ และในศิลปะเขมรนั้น มกรถูกใช้เป็นลวดลายของทับหลังที่ถูกประดับเหนือประตู เพื่อเป็นการอวยพรให้ผู้ที่เข้ามามีความสุข และความอุดมสมบูรณ์ เช่น ศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุก และศิลปะแบบพระโค เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่า มกรเป็นสัตว์พาหนะของพระแม่คงคา และพระวรุณ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งแม่น้ำ และสายฝนอีกด้วย


ที่มารูปภาพ https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=surya21&month=04-2013&date=03&group=4&gblog=109&fbclid=IwAR0j-Fofk44y55uwbtVIv6-CtdCQt207oh3e-un67ZFgwdgyIJBBIKTPuNY

มกรที่ปรากฏในไทยนั้น จะปรากฏในรูปของตัวกินนาค ซึ่งจะพบเห็นได้ตามวัดต่างๆ โดยเฉพาะภาคเหนือ มกรคายนาคนี้ถือเป็นศิลปะล้านนา ซึ่งสามารถตีความหมายได้ 2 แบบ คือ 1.เป็นการเปรียบเทียบว่า มกร คือพม่า ส่วนพญานาค คืออาณาจักรล้านนา ซึ่งหมายถึงการหลุดพ้นจากอิทธิพลทางศิลปะ และการปกครองของพม่าที่เข้ามาครอบครองอาณาจักรล้านนากว่า 200 ปี และ 2.เป็นความหมายในทางพระพุทธศาสนา เปรียบมกรเป็นความรัก โลภ โกรธ หลง ส่วนนาคนั้นคือ ตัวเรา แปลความหมายได้ว่า หากตัวเรายังยึดติดกับความลุ่มหลงต่างๆ เราก็เหมือนกับพญานาคที่ถูกมกรยึดติดไว้ ไม่หลุดพ้นจากความทุกข์ หรือปล่อยวางได้ และยังมีอีกอย่างที่ต้องเป็นมกรคายนาค ไกด์ประจำสถานที่ท่องเที่ยวในอำเภอบอกว่า หากเราปั้นเฉพาะพญานาคลำตัวก็จะยาว จึงต้องปั้นให้เป็นมกรคายนาค เพราะมกรนั้นพอดีกับความยาวของราวบันได

ที่มารูปภาพ http://paapaii.com/travel-give-good-2018/

มกรนั้น ถือเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ที่มีความสำคัญในทางศิลปะไม่น้อย แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รู้จัก หรือให้ความสำคัญใดๆเลย และมกรยังเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถนำมาบ่งบอกถึงยุคศิลปะต่างๆได้ ในบทความนี้ทางผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้อ่านจะได้รู้จักกับมกร หรือตัวกินนาคนี้มากขึ้น และหากท่านลองสังเกตตามบันไดที่วัดต่างๆ ท่านอาจจะเห็นตัวกินนาคที่ท่านอาจเคยมองข้ามไป


แหล่งอ้างอิง
เชษฐ์ เชษฐ์  ติงชัญชลี. (2560). ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. พิมพ์ครั้งที่ 3.
นนทบุรี: มิวเซียมเพรส.
MTHAI. (2556). ตัวกินนาค. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562, จาก