วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

หอพระแก้ว : อดีตพุทธสถานแห่งศรัทธา

 

หอพระแก้ว : อดีตพุทธสถานแห่งศรัทธา

 

          ถ้าพูดถึงพระคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย หนึ่งในชื่อที่ถูกพูดถึงคือ พระแก้วมรกตอย่างแน่นอน ซึ่งพระแก้วมรกตนั้นถูกสร้างไว้ไม่ต่ำกว่า 400 ปีแล้ว ทั้งยังเคยประดิษฐานในประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาวกว่า 200 ปี ทำให้พระแก้วมรกตนั้นเป็นพระพุทธรูปที่คนลาวให้ความเคารพนับถือ ซึ่งสถานที่ที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกตนั้นคือ หอพระแก้ว


          หอพระแก้วตั้งอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว ถูกสร้างขึ้นในปี 1565 โดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช สถาปัตยกรรมเป็นรูปแบบของล้านช้าง ซึ่งในอดีตเคยเป็นวัดประจำราชวงศ์ของลาว ชื่อของหอพระแก้ว หมายถึง สถานที่ที่ถูกใช้ประดิษฐานพระแก้วมรกต

          พระแก้วมรกตนั้นในอดีตประดิษฐานอยู่ที่อาณาจักรล้านนา เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ไปปกครองที่ล้านนาได้เกิดศรัทธาต่อพระแก้วมรกต เมื่อได้กลับมายังอาณาจักรล้านช้างจึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาด้วย และประดิษฐานอยู่ที่ประเทศลาวกว่า 200 ปี ก่อนที่กองทัพสยาม ที่มีพระเจ้าตากสินมหาราชปกครองในขณะนั้น ได้ส่งแม่ทัพคนสำคัญคือ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีล้านช้างจนได้รับชัยชนะ และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาที่กรุงธนบุรี ภายหลังจากที่เปลี่ยนยุคสมัยจากธนบุรีเป็นรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก หรือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกผู้เป็นปฐมราชวงศ์จักรี ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว พระแก้วมรกตจึงได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดแห่งนี้จนถึงปัจจุบัน

ที่มา https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/4942.html


          หอพระแก้วในปัจจุบัน ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างดั้งเดิม แต่เป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นใหม่ในปี 1937 โดยเจ้าสุวรรณภูมาเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งจบมาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ประเทศฝรั่งเศส อาคารดั้งเดิมนั้นทำจากไม้ และมีการแกะสลักลวดลายที่งดงาม แต่ในช่วงสงครามได้ถูกไฟไหม้ถึง 2 ครั้ง ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก จนไม่สามารถบูรณะซ่อมแซมได้ จึงสร้างขึ้นมาใหม่แทนที่อาคารหลังเดิม

ที่มา https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/88402.html


          ในปัจจุบันหอพระแก้วเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเกี่ยวกับโบราณวัตถุ พระพุทธรูปตั้งแต่สมัยล้านช้าง รวมถึงจัดแสดงสิ่งของจากราชวงศ์ของลาวในอดีต โดยมีค่าเข้าชม 5,000 กีบ และเปิดให้บริการทุกวันในเวลา 08.00 - 12.00 น. และ 13.00 – 16.00 น. โดยไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปภายในตัวอาคาร ถ่ายได้เฉพาะบริเวณรอบนอกเท่านั้น

ที่มา https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/88402.html


          แม้ที่หอพระแก้วจะไม่มีพระแก้วมรกตอยู่แล้ว ก็ไม่ได้เปลี่ยนชื่อเป็นชื่ออื่นแต่อย่างใด แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาของคนลาวที่ยังคงมีต่อพระแก้วมรกตไม่เสื่อมคลาย แม้จะผ่านไป 200 กว่าปีแล้วที่พระแก้วมรกตถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่ประเทศไทย

 

 



อ้างอิง

          โอเชี่ยนสไมล์ทัวร์. (ม.ป.ป.). หอพระแก้ว เวียงจันทร์ : "อดีตเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต". ค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2564. จาก http://www.oceansmile.com/Lao/HoPhakeaw.htm

         bonboy. (2556). หอพระแก้ว และ วัดสีสะเกด (เที่ยวลาว เวียงจันทน์). ค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2564. จาก https://travel.mthai.com/world-travel/62737.html

          MGR Online. (2556). “หอพระแก้ว” โทรมหนักลาวกางแผนบูรณะใหญ่ในรอบ 70 ปี. ค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2564. จาก https://mgronline.com/indochina/detail/9560000089102